อันตราย! งดข้าวเช้าเสี่ยงตายไว อัมพฤกษ์ อัมพาต
250
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผยผลวิจัยจากญี่ปุ่น งดข้าวเช้า..กลับตายเร็ว เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต
ข่าวคุณภาพชีวิตเผยวิจัยจากญี่ปุ่น ที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เผยผลวิจัยจากญี่ปุ่น “งดข้าวเช้า..กลับตายเร็ว” ระบุว่า
งดข้าวเช้า..กลับตายเร็ว
หมอดื้อ
พูดกันมานานและฝังใจกันมาตลอดว่า อาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุด ในแง่ของการคุมน้ำหนัก แจ่มใส ทนงาน ไม่ล้า และลดความเสื่ยงต่อการเกิดความดันสูง โรคหัวใจ ไขมันสูง เบาหวาน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานเชิงประจักษ์ตัวเป็นๆ ที่จะแสดงให้เห็นคุณงามความดียังไม่เป็นที่ชัดเจน จวบจนกระทั่งมีรายงานหลักฐานจากการศึกษาที่ญี่ปุ่นตีพิมพ์ในวารสารโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke 2016) แสดงให้เห็นชัดว่า ถ้าไม่กินตอนเช้า จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งจากเส้นเลือดแตก และตันในสมอง รวมทั้งโรคหัวใจ
การศึกษานี้ติดตามคนญี่ปุ่น 82,772 ราย เป็นชาย 38,676 ราย และหญิง 44,096 ราย โดยมีอายุระหว่าง 45- 74 ปี ตามไปตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2010 โดยที่เริ่มแรกผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่มีโรคหัวใจหรือมะเร็ง และจำแนกแจกแจงการกินอาหารเช้าจากกินอาทิตย์ละ 0-2, 3-4, 5-6 วัน และกินทุกวัน ทั้งนี้มีการประเมินปัจจัยต่างๆ ทั้งชนิดของอาหาร ปริมาณ ส่วนประกอบ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เล่นกีฬา มีความเครียดระดับใด สูบบุหรี่ ดื่มแค่ไหน นอนหลับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เป็นคนใช้แรงงาน และอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวหรืออยู่เป็นครอบครัว และประเมินน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกายรวม การเกิดความดันสูง เบาหวาน ระหว่างที่ติดตามการศึกษา ระดับไขมัน การใช้ยาความดัน ยาลดไขมัน ยาเบาหวาน และอื่นๆ
เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในปี 2010 รวมการติดตามทั้งหมดเป็น 1,050,030 คน-ปี จากประชากรศึกษา 82,772 ราย ทั้งนี้มีเพียง 7 % (5,839 ราย) ที่ติดตามได้ไม่ครบ 15 ปี พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคเส้นเลือดหัวใจ 4,642 โรคอัมพฤกษ์ 3,772 ราย (เส้นเลือดสมองแตก 1,051 ตกเลือดในเยื่อหุ้มสมอง 417 และเส้นเลือดตันในสมอง 2,286 ราย) และมี 870 ราย ที่เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบและเสียชีวิตทันที ที่น่าสนใจคือ เป็นความจริงที่อาหารเช้ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค โดยถ้ากินบ่อยครั้งหรือทุกวันใน 1 อาทิตย์ กลับปลอดโรคมากขึ้น
ทั้งนี้โดยที่เมื่อปรับเกณฑ์ต่างๆเข้าด้วยกันของ อาหาร น้ำหนัก ยาที่ใช้ โรคที่เป็น การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ปริมาณผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ นม ถั่ว ไขมันอิ่มตัว ปริมาณกากใย ไฟเบอร์ และแม้แต่ปริมาณเกลือโซเดียมก็ตาม ยังพบว่าการที่ไม่กินอาหารเช้าหรือยิ่งอดบ่อย กลับมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับความเสี่ยงของโรคทั้งหลายทั้งปวง กลไกที่เกี่ยวข้องอาจจะอธิบายจากการที่คนอดอาหารจะมีความดันขึ้นสูง โดยเฉพาะในช่วงเช้ามืดและเป็นเวลาเดียวกับที่เส้นเลือดสมองชอบแตก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-
อันตราย! งดข้าวเช้าเสี่ยงตายไว อัมพฤกษ์ อัมพาต
-
'หมอธีระวัฒน์' ชี้ ฝีดาษลิงไม่ตายแต่อาจเสียโฉม เผยสงสัยติดเชื้อต้องทำยังไง
-
หนุ่มมีสะดุ้ง! 'องคชาต' สั้นลงหลังติดโควิด เกิดจากภาวะ 'Long Covid'