TECHNOLOGY UPDATE

:

กำเนิดรถ EV ครั้งเเรกของโลกเมื่อไหร่ เติบโตขนาดไหนในปัจจุบัน



กำเนิดรถ EV ครั้งเเรกของโลกเมื่อไหร่ เติบโตขนาดไหนในปัจจุบัน

 

รถ EV เคยครองตลาดโลกอยู่ช่วงหนึ่งคือปี 1890-1910 แต่เมื่อมีการพัฒนารถน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาและโลกหันไปพึ่งปิโตรเลียม กระแสรถ EV เลยไม่ตอบโจทย์การใช้งานเท่ารถน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ยอดขายของรถ EV เพิ่มขึ้นทุกปี และในปี 2021 ถือเป็นปีทองของรถEV โดยมียอดขายไปกว่า 6.5 ล้านคัน ประเทศที่ซื้อรถEV เยอะที่สุดคือจีน ซึ่งกินพื้นที่ตลาดทั้งโลกไป 50% รองลงมาคือยุโรป 35% และสหรัฐอเมริกา 8% รวมถึง Tesla เป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดเยอะที่สุดคือ 14%
 

ตั้งแต่ปี 2010-2022 มีรถยนต์จำนวน 60-70 ล้านคันที่ถูกขายออกสู่ท้องถนน ซึ่งรถยนต์น้ำมันเป็นตัวเลือกยอดนิยมที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ ตลาดรถยนต์น้ำมันเริ่มถูกสั่นสะเทือนจากรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV (Electric Vehicle) ที่เรียกได้ว่า เราอาจกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของรถยนต์น้ำมันและ “รถ EV” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่มันเริ่มตั้งแต่ต้น “กำเนิด” ของรถยนต์เมื่อ 100 กว่าปีก่อน! 

ในอดีตเกิดอะไรขึ้น ทำไมรถน้ำมันถึงครองตลาดมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันรถ EV ขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้ยังไง และในอนาคตใครจะเป็นผู้ครองตลาด วันนี้เราจะมาเจาะลึกให้ฟังแบบเต็ม ๆ

 

จุดเริ่มต้นของรถยนต์

ในสมัยก่อน เวลามนุษย์จะเดินทางไปไหนมาไหน พาหนะยอดฮิตที่ใช้จะเป็นรถม้า แต่พอเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เกิดเครื่องจักรไอน้ำขึ้นมา ทำให้มีคนเริ่มคิดแล้วว่า “ทำไมเราไม่ลองสร้างพาหนะที่ใช้พลังไอน้ำแทนม้าดูล่ะ?”

คราวนี้เลยเกิดเป็นรถยนต์ไอน้ำขึ้นมา โดยจะมีหม้อต้มน้ำอยู่ข้างหน้า มีที่นั่งและคันบังคับอยู่ตรงกลาง มีล้ออยู่ 3 ล้อ แต่ถึงแม้จะใช้ไอน้ำแทนม้าได้แล้ว ปัญหาคือความเร็วของรถคันนี้อยู่ที่ 3.6 กม./ชม. เท่านั้น เรียกได้ว่าเดินเอายังเร็วกว่า อีกทั้งกว่าจะสตาร์ทหรือขับได้ก็ต้องต้มน้ำรอเป็นชั่วโมง ทำให้รถไอน้ำไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

 

กำเนิด “รถ EV” คันแรก กับอุปสรรคที่ไปได้ไม่ไกล

ถึงแม้ไอน้ำจะไม่เวิร์ค แต่ก็เหมือนเป็นการเบิกทางให้คนได้คิดต่อว่า “เราจะใช้อะไรแทนไอน้ำเพื่อให้รถมีประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้งานได้จริง?” 

และแล้วในปี 1884 ก็มีวิศวกรชาวอังกฤษชื่อว่า “โทมัส พาร์คเกอร์ (Thomas Parker)” สร้างรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV ซึ่งใช้แบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้ ทำให้รถ EV ของโทมัส พาร์คเกอร์ ถูกพัฒนาต่อและเอาไปใช้จริงในช่วงทศวรรษ 1890 โดยเอามาทำเป็นแท๊กซี่ขับขี่รับส่งผู้โดยสารในเมืองแทนที่รถม้า เรียกได้ว่ารถ EV ถูกขายออกไปกว่า 30,000 คัน โลดแล่นอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะลอนดอนและนิวยอร์ก กลายเป็นยุคที่รถ EV บูมและครองตลาดแบบเด็ดขาดเลยทีเดียว!

แต่แล้ว ทำไมความนิยมในรถ EV ถึงลดลง ถึงขนาดหายหน้าหายตาไปจากท้องถนน?

จริง ๆ แล้ว ในช่วงที่รถ EV ถูกพัฒนา ก็มีรถอีกแบบที่พัฒนาตีคู่มาด้วยเหมือนกัน นั่นคือรถที่ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้หรือที่เราเรียกว่ารถสันดาปภายใน ซึ่งหลังจากรถ EV ของโทมัส พาร์คเกอร์เปิดตัวไปได้แค่ 2 ปี วิศวกรชาวเยอรมันที่ชื่อว่า “คาร์ล เบนซ์ (Karl Benz)” ก็สร้างรถเชื้อเพลิงเผาไหม้ได้สำเร็จในปี 1886

คราวนี้เลยกลายเป็นศึกแลกหมัดอย่างดุเดือดระหว่างรถ EV และรถเชื้อเพลิง ซึ่งในตอนแรกรถ EV เป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะรถ EV สตาร์ทง่ายกว่า และสามารถชาร์จไฟได้สะดวกกว่า ในขณะที่รถเชื้อเพลิงสตาร์ทและหาซื้อเชื้อเพลิงยาก จะไปไหนมาไหนเลยไม่ค่อยสะดวก ทำให้รถ EV เลยตอบโจทย์มากกว่านั่นเอง

 

แต่รถ EV ครองตลาดได้แค่เวลาสั้น ๆ เพราะกระแสของโลกดันเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากปิโตรเลียมมากขึ้น ตัวของรถเชื้อเพลิงเลยพัฒนากันยกใหญ่ให้ตอบโจทย์กับเทรนด์นี้ แล้วก็ได้มีชายที่ชื่อว่า “เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford)” พัฒนารถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงได้ แล้วเปิดบริษัทของตัวเองในปี 1903 คือ Ford Motor Company

นอกจากจะสร้างรถน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว เฮนรี ฟอร์ดยังคิดว่าควรลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อทำราคารถให้คนทั่วไปจับต้องได้ โดยมีการนำระบบสายพานมาใช้ให้ชิ้นส่วนรถยนต์ไหลไปตามสายพาน แล้วกระจายคนงานประกอบชิ้นส่วนทีละส่วนตามจุดของตัวเอง ซึ่งทำให้รถ 1 คัน ใช้เวลาในการผลิตแค่ 93 นาที แถมลดต้นทุนไปมหาศาล 

 

 

และในปี 1910 รถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงรุ่น Ford Model T ก็ออกสู่ตลาดในราคาที่ถูก สะดวก วิ่งได้ไวและไกลกว่ารถ EV หลายเท่า ทำให้ Ford Model T ทำยอดขายถล่มทลายกว่า 15 ล้านคัน และตั้งแต่ตอนนั้นรถน้ำมันเชื้อเพลิงก็ขึ้นมาครองตลาดแทนรถ EV 

เรียกได้ว่า รถ EV ครองตลาดอยู่เพียง 20 ปีเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีที่จำกัดวิ่งได้แค่ 30 กม./ชม. ชาร์จ 1 ครั้งก็วิ่งได้สูงสุดแค่ 60 กม. ทำให้พ่ายแพ้ต่อรถน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างราบคาบ แต่ในช่วงเวลากว่า 100 ปีนี้ รถ EV ก็ยังมีการพัฒนาตลอด จนเริ่มเห็นแสงสว่างที่พอจะกลับมาสู้ได้เมื่อเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 21

 

รถ EV ในศตวรรษที่ 21 เกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

อย่างแรกเลยคือราคาน้ำมันเริ่มสูง อีกทั้งปัญหาต่อมาคือสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง ปริมาณรถน้ำมันเชื้อเพลิงที่เยอะเกินไปเริ่มสร้างมลพิษอย่างหนักให้กับหลาย ๆ ประเทศ คราวนี้มันเลยเป็นโอกาสทองที่รถ EV จะกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง

และแล้วในปี 2003 วิศวกร 2 คน คือ มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) กับมาร์ก ทาร์เพนนิ่ง (Marc Tarpenning) อยากคิดค้นรถ EV ที่สามารถใช้งานได้ทั่วไปเหมือนรถน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมันก็ทำให้เกิดบริษัทที่ชื่อว่า Tesla Motors ขึ้น เพื่อคิดค้นและผลิตรถ EV โดยเฉพาะ 

 

 

ซึ่งทั้งสองคนต้องการทำ Tesla ให้เป็นบริษัท Tech เพื่อซัพพอร์ทองค์ประกอบของรถ EV ที่ต้องมี “แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน มอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ และซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ที่อำนวยความสะดวก” แต่ถึงแม้จะมีแนวคิดที่ชัดเจนขนาดไหน ปัญหาของ Tesla ในตอนนี้คือไม่มีเงินทุนในการทำโปรเจกต์ที่ว่าได้จริง

และก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ เมื่อมีนักธุรกิจชื่อว่า “อีลอน มัสก์ (Elon Musk)” สนใจเข้ามาลงทุนกับ Tesla เพราะอีลอนมองว่า “รถ EV จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อนาคต” เมื่อทั้งแผนและทุนพร้อมแล้ว Tesla ก็เดินหน้าพัฒนาสร้างรถ EV รุ่นแรกของตัวเอง

หลังผ่านไป 5 ปี รถรุ่นแรกของ Tesla ก็เปิดตัวในปี 2008 ในชื่อ Tesla Roadster ซึ่งใช้เแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ชาร์จ 1 ครั้ง วิ่งได้ 320 กม. พร้อมซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ล้ำสมัย และรูปทรงรถในแนวสปอร์ต 2 ประตู

กระนั้น Tesla Roadster เปิดตัวได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะราคาแตะไปถึงระดับ 100,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 3 ล้านบาท) ทำให้ยังไม่สามารถเข้าไปเบียดตลาดรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย มียอดขายทั่วโลกตั้งแต่ปี 2008-2012 อยู่ที่ 2,450 คัน จนต้องหยุดผลิตไปในปี 2012

 

 

แต่ในระหว่างนั้น ไม่ใช่แค่ Tesla ที่กำลังพัฒนารถ EV แต่ยังมี Mitsubishi และ Nissan ที่ตีคู่มาด้วยและเหมือนจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ โดยในปี 2009 ก็มีการเปิดตัว Mitsubishi I-MiEV ในราคา 4 ล้านเยน (ประมาณ 1 ล้านบาท) ซึ่งถูกกว่า Roadster ประมาณ 65% ทำให้ I-MiEV ตีตลาดได้มากกว่า มียอดขายในปีแรก 986 คัน และในปี 2012 ก็ทะลุไปถึง 10,000 คัน 

อีกทั้งในปี 2010 ก็มีการเปิดตัว Nissan Leaf ในราคา 25,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 7 แสนบาท) ซึ่งทำยอดขายได้มากกว่า I-MiEV ไปหลายเท่าเลยทีเดียว แค่ปีแรก ๆ ยอดขายก็ทะลุไปถึง 20,000 คัน ทำให้ขึ้นแท่นเป็นรถ EV ที่ขายดีที่สุดในช่วงนั้น

 

กำเนิด “รถ EV” ใหม่อีกครั้งกับ Tesla

คราวนี้เราลองกลับมามองที่ Tesla ดูบ้าง หลัง Roadster ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในช่วงเวลานั้น อีลอน มัสก์ก็ขึ้นเป็น CEO แล้วตั้งใจเร่งพัฒนารถรุ่นใหม่ให้ตอบโจทย์มากกว่าเดิม แต่จากการลงทุนกับ Roadster ทำให้ Tesla เจอปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนต้องตัดสินใจหาเงินทุนโดยขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ เพื่อเอาเงินมาพัฒนารถรุ่นใหม่ต่อ

และในปี 2012 ก็มีการเปิดตัว Tesla Model S ในราคาเริ่มต้น 57,400 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.7 ล้านบาท) ซึ่งถูกกว่า Roadster เกือบ 50% แต่มีระบบการใช้งานและซอฟแวร์ไม่ต่างกัน แถมยังชาร์จได้เร็วขึ้น ทำให้ในปี 2012 Model S ทำยอดขายไปได้ 2,650 คัน และในปี 2013 ทำยอดขายทะลุไปถึง 22,477 คัน

เรียกได้ว่า Model S ประสบความสำเร็จจนต่อลมหายใจให้ Tesla ได้เลยทีเดียว ซึ่งในปี 2015 ก็มี Tesla รุ่นใหม่ที่เป็น SUV ชื่อว่า Tesla Model X ซึ่งมียอดจองล่วงหน้า 30,000 คัน

และในปี 2017 ก็ถึงจุดพีคของ Tesla กับการเปิดตัว Tesla Model 3 ทรงซีดาน วิ่งได้สูงสุด 576 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง พร้อมฟังก์ชันซอฟแวร์ที่ล้ำสมัย กลายเป็นรถ EV ที่ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดในตอนนั้นเลยก็ว่าได้ และมียอดจองล่วงหน้ากว่า 500,000 คัน ขึ้นแท่นเป็นรถ EV ที่ขายดีที่สุด และทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทรถ EV อันดับหนึ่งของโลก 

“และในปี 2021 ยอดขายรวมของ Tesla Model 3 ทั่วโลก ทะลุไปถึง 1 ล้านคัน”

อีกทั้ง Tesla ยังมีการสร้าง Supercharger ตั้งแต่ปี 2012 เป็นสถานีชาร์จไฟของรถ EV โดยเฉพาะ และเมื่อเข้าปี 2022 มี Supercharger อยู่ 2,564 แห่งทั่วโลก โดยในอเมริกาเหนือมี 1,101 แห่ง ยุโรปมี 592 แห่ง และเอเชียมี 498 แห่ง

การพัฒนารถ EV และโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Supercharger ของ Tesla ทำให้โลกเริ่มหันมาให้ความสนใจกับรถEV มากขึ้น รวมถึงแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็เริ่มมีแผนพัฒนาและสร้างรถ EV ของตัวเองด้วยเหมือนกัน  

 

ตลาดรถ EV เติบโตขนาดไหนในปัจจุบัน?

เราเห็นพัฒนาการของรถ EV ในศตวรรษที่ 21 กันแล้ว คราวนี้เราจะไปดูว่าตลาดของรถ EV เป็นยังไงบ้างในปัจจุบัน

1.ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ยอดขายของรถ EV เพิ่มขึ้นทุกปี และในปี 2021 ถือเป็นปีทองของรถ EV โดยมียอดขายไปกว่า 6.5 ล้านคัน

2.ประเทศที่ซื้อรถ EV เยอะที่สุดคือจีน ซึ่งกินพื้นที่ตลาดทั้งโลกไป 50% รองลงมาคือยุโรป 35% และสหรัฐฯ 8%

อย่างที่ได้กล่าวไป แบรนด์ใหญ่ ๆ เริ่มพัฒนารถEV และเข้ามาตีตลาดแข่งกับ Tesla คราวนี้เรา

ลองมาดูกันต่อว่าแต่ละแบรนด์กินส่วนแบ่งตลาดไปเท่าไหร่กันบ้าง

 

อันดับ 1 Tesla 14% โดยรุ่นรถที่ขายดีที่สุดคือ Tesla Model 3 ซึ่งเจาะตลาดจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่

อันดับ 2 Volkswagen 12% ในกลุ่มนี้จะมีแบรนด์อย่าง Audi, Cupra, Porsche, SEAT และ Skoda ซึ่งเจาะตลาดในยุโรปเป็นส่วนใหญ่

อันดับที่ 3 SAIC 11% ในกลุ่มนี้จะมีแบรนด์อย่าง Baojun, Maxus, MG และ Roewe โดยเป็นบริษัทของจีนที่เน้นเจาะตลาดในจีน

อันดับ 4 BYD 9% เป็นบริษัทของจีนที่รถ EV กำลังมาแรง ซึ่งเน้นเจาะตลาดจีนไล่ตาม SAIC และ Tesla

อันดับ 5 Stellantis 6% มีแบรนด์อย่าง Opel และ Fiat เน้นเจาะตลาดในยุโรป

อันดับที่ 6 BMW และ Hyundai กินส่วนแบ่งตลาดเท่ากันคือแบรนด์ละ 5 %

 

ไทยกับรถ EV กระแสที่กำลังมาแรง

ในช่วงที่ผ่านมาคือปี 2021-2022 กระแสรถ EV ในไทยถูกพูดถึงกันหนาหูมาก อาจจะด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้คนไทยเริ่มสนใจรถ EV กันมากกว่าแต่ก่อน เพราะเชื่อว่าเป็นรถที่ประหยัดกว่ารถน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ก็ยังมีเรื่องที่คนไทยกังวลเกี่ยวกับการออกรถ EV อยู่ โดยเฉพาะเรื่องสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศและเวลาในการชาร์จแต่ละครั้งก็นานเกินไป

แต่เราลองมาดูกันว่าสถานีชาร์จรถ EV ในไทยมีกี่ที่ แล้วตอนนี้ครอบคลุมขนาดไหน?

 

เราแบ่งจุดชาร์จออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.MEA หรือจุดชาร์จไฟของการไฟฟ้านครหลวง มี 13 แห่ง จะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

2.PEA หรือจุดชาร์จไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มี 11 แห่ง กระจายไปแต่ละภาค

3.ปตท. EV Station โดยจะมีแบบ Quick Charge 5 แห่ง และแบบธรรมดาอีก 25 แห่ง กระจายตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ

4.EGAT หรือการไฟฟ้าฝ่ายการผลิต มี 9 แห่ง ตามโรงไฟฟ้าใหญ่ ๆ ของแต่ละจังหวัด

5.EA Anywhere เป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถ EV ในไทยโดยเฉพาะ ซึ่งมีสถานีกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ

 

เรียกได้ว่า ในไทยมีสถานีชาร์จที่ค่อนข้างเยอะ แต่อาจไม่ได้มีทุกจังหวัดหรือทุกอำเภอ เพราะตอนนี้เพิ่งเริ่มลงทุนสร้างและคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอนาคตที่ Tesla จะมาเปิดบริษัทในไทย คาดว่าต้องมีการสร้าง Supercharger และสถานีชาร์จเพิ่มเติมจนครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอภายใน 5-10 ปีนี้แน่นอน ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ตลาดรถ EV ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วได้เลย

แต่การเข้ามาของรถEV ก็ส่งผลต่อการผลิตของไทยเหมือนกัน เพราะไทยเป็นฐานการผลิตรถน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับเซ็นเตอร์ของภูมิภาคมาอย่างยาวนาน และในอนาคตแน่นอนว่าทางเลือกของรถน้ำมันเชื้อเพลิงอาจลดน้อยลง ทำให้ภาคการผลิตของไทยต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนหันไปผลิตรถ EV มากขึ้นก็เป็นได้

 

รถ EV จะกลายเป็นคำตอบของโลกอนาคตหรือไม่ ?

คราวนี้เรามาถึงคำถามสุดท้ายที่ถูกถกเถียงกันมาตลอดตั้งแต่มีการพัฒนารถ EV โดยมีปัจจัยหลายอย่างเลยทีเดียวที่จะทำให้รถ EV อาจกลายเป็นคำตอบของอนาคต ซึ่งปัจจัยใหญ่ที่สุดเลยคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นสำคัญที่โลกกำลังให้ความสนใจ และรถน้ำมันเชื้อเพลิงก็เรียกได้ว่าเป็นตัวการหลักในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้หากพัฒนาพวกโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสถานีชาร์จให้ใกล้เคียงกับปั๊มน้ำมัน รถ EV ก็สามารถเข้ามาเบียดตลาดให้สูสีมากกว่าเดิมได้ไม่ยาก

ถึงแม้ทุกอย่างจะพร้อม ข้อจำกัดที่เป็นกำแพงมหึมาของรถEV คือเรื่องของลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างแบตเตอรี่และเป็นแร่ที่ค่อนข้างหายาก ทำให้เมื่อความต้องการรถ EV สูงขึ้น ลิเธียมไอออนจะถูกใช้มากขึ้น และแน่นอนว่าราคาก็ต้องสูงตามไปด้วย

หากรถ EV สามารถหาอย่างอื่นมาทำแบตเตอรี่แทนลิเธียมไอออนได้ หรือพบแหล่งลิเธียมไอออนขนาดใหญ่ของโลกเพิ่ม รถ EV คงกลายเป็นคำตอบของโลกอนาคตแทบจะ 100%

และนี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมดของการพัฒนารถ EV ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมาจนปัจจุบันซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและคนให้ความสนใจกันในวงกว้าง ซึ่งทุกวันนี้ก็เริ่มมีรถEV โลดแล่นบนท้องถนนกว่า 10% รวมถึงในไทยก็เริ่มมีมากขึ้นเหมือนกัน และในอนาคตเชื่อว่าตลาดของรถ EV จะยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็วตามโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นนั่นเอง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กลับขึ้นด้านบน

Thaiza update: