ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ทำลายสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
1,505
องค์การบริหารกิจการด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ แถลงผลการตรวจวัดล่าสุดของปริมาณก๊าซ
Getty Image
โลกร้อน : องค์การบริหารกิจการด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) แถลงผลการตรวจวัดล่าสุดของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก โดยพบว่าเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มีระดับความเข้มข้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนเป็น 421 ppm หรือ 421 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับดังกล่าวนั้น มนุษย์ไม่เคยได้ประสบพบเห็นมาก่อน เนื่องจากเป็นระดับเดียวกับบรรยากาศโลกเมื่อ 4.1 - 4.5 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับสมัยไพลโอซีน (Pliocene epoch) ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปัจจุบันถึง 3.9 องศาเซลเซียส ทั้งยังมีระดับน้ำทะเลสูงกว่าทุกวันนี้ 5 - 25 เมตร
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 คงที่อยู่ในระดับ 280 ppm มาเป็นเวลานานหลายล้านปี แต่สถิติล่าสุดนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้วถึง 1.9 ppm และสูงกว่าระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงกว่า 50%
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นถ่านหิน น้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
โนอาตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก จากปากปล่องภูเขาไฟเมานาโลอา (Mauna Loa) ในฮาวาย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วและอยู่ที่ระดับความสูงมากพอ จนทำให้ผลการตรวจวัดไม่มีค่ามลภาวะจากพื้นโลกปนเปื้อน
เหตุที่ต้องตรวจวัดในเดือนพ.ค.ของทุกปีนั้น เป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวโลกมีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสะสมสูงสุด เนื่องจากพืชในซีกโลกเหนือหยุดการเจริญเติบโตและไม่ดูดซับคาร์บอนมาตั้งแต่ช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และต้นฤดูใบไม้ผลิ แต่หลังจากสิ้นเดือนพ.ค.เป็นต้นไป พืชจะกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูร้อนและจะดูดซับคาร์บอนในบรรยากาศมาใช้มากขึ้น
โลกในสมัยไพลโอซีนที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับปัจจุบัน แผ่นดินถูกน้ำทะเลท่วมในหลายพื้นที่เนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย อุณหภูมิเฉลี่ยแม้จะสูง แต่ก็ถือว่าเย็นลงกว่าสมัยไมโอซีนราว 2 ล้านปีก่อนหน้านั้น โดยการเย็นตัวลงของภูมิอากาศโลกในสมัยดังกล่าว ทำให้เริ่มมีความแห้งแล้ง และปรากฏทุ่งหญ้าแพร์รีรวมทั้งทุ่งหญ้าสะวันนาแทนที่ป่าไม้มากขึ้น
ที่มา BBC Thai
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
บราซิลพบหินพลาสติกบนเกาะห่างไกล สะท้อนมลพิษฝีมือมนุษย์
-
ออสเตรเลียเผยผลวิจัย แทบไม่มีสถานที่ในโลกปลอดมลพิษทางอากาศ
-
จุดความร้อนในไทยยังสูง สั่งงดเผาทุกกรณี ถึง 30 เม.ย.
-
เตือนฝุ่นระลอกใหม่ 27-28 ม.ค.นี้ 7 จังหวัดมีผลกระทบสุขภาพ
-
กทม.-ปริมณฑลเช้านี้ ปริมณฑลฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์ 36 พื้นที่
-
อินเดียเผยค่ามลพิษในเมืองเดลี สูงสุดของประเทศ