ซิลิคอนวัลเลย์ ถึงเครดิตสวิส เกิดอะไรขึ้นกับระบบการเงินโลก
4,519
หลังการล้มละลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ ล่าสุดธนาคารเครดิต สวิส ได้บรรลุข้อตกลง
Photo : AFP
หลังการล้มละลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 19 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ธนาคารยูบีเอส ธนาคารใหญ่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ได้บรรลุข้อตกลงการช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยเข้าซื้อกิจการของธนาคารเครดิต สวิส แล้ว ด้วยข้อตกลงที่มีรัฐบาลสนับสนุน หลังเครดิต สวิส เผชิญวิกฤตทางการเงินหุ้นตกอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงล้ม
ก่อนหน้านี้ เครดิต สวิส ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์กว่า 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะหุ้นร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ผู้ถือหุ้นของธนาคารเครดิต สวิส ถูกตัดสิทธิในการโหวตข้อตกลงนี้ แต่จะได้รับส่วนแบ่งหุ้นจากธนาคารยูบีเอส ในสัดส่วน 1 หุ้น ต่อทุก ๆ 22.48 หุ้นที่เป็นเจ้าของ รวมมูลค่าของธนาคารทั้งหมด 3.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาตอนปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มี.ค. ธนาคารเครดิต สวิส มีมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารของรัฐบาลสหพันธรัฐสวิส ระบุว่า เพื่อลดความเสี่ยงใด ๆ ต่อธนาคารยูบีเอส ธนาคารกลางฯ จะให้เงินทุนอุดหนุนจำนวน 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขาดทุนที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้น พร้อมการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดสภาพคล่องอีก 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการแก้ปัญหานี้เกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและปกป้องเศรษฐกิจของสวิสเอาไว้
เมื่อ 15 มี.ค. หุ้นของธนาคารเครดิตสวิสดิ่งลงถึง 24% ถือว่าลดต่ำเป็นประวัติการณ์ หลังทางธนาคารยอมรับในรายงานว่า พบ “ความอ่อนแอ” ในรายงานทางการเงิน ซึ่งจนถึงวันที่ 16 มี.ค. หุ้นดิ่งลงไปถึง 30% ความวิตกกังวลนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสั่นสะเทือน ดัชนีหลักทั้งหมดดิ่งลงอย่างรุนแรง
สถาบันทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ต้องดำเนินตามข้อกำหนดที่เข้มงวด “เพื่อสร้างเสถียรภาพ” และได้พิจารณาว่าธนาคารเครดิตสวิสมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของธนาคารที่ถือว่า "มีความสำคัญต่อระบบการเงิน"
ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก หรือ “global systemically important bank” มีราว 30 ธนาคาร รวมถึงธนาคารเจพี มอร์แดน เชส ธนาคารแห่งอเมริกา และธนาคารแห่งจีน
ล่าสุด ธนาคารเดรดิตสวิสได้ประกาศกู้ยืมเงินกว่า 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.85 ล้านล้านบาท จากธนาคารแห่งชาติสวิสแล้ว
รู้จักเครดิตสวิส และที่มาของวิกฤตครั้งนี้
ธนาคารเครดิตสวิส ก่อตั้งขึ้นในปี 1856 และเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมาหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อหาฟอกเงินและอื่น ๆ
ธนาคารเครดิตสวิสสูญเสียเงินมหาศาลในปี 2021 และอีกครั้งในปี 2022 ถือเป็นปีเลวร้ายที่สุดของทางธนาคาร นับแต่วิกฤตทางการเงินปี 2008 ทางธนาคารเตือนว่า ประเมินแล้วไม่คิดว่าจะสร้างกำไรได้ จนถึงปี 2024
หุ้นของธนาคารได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สัปดาห์นี้ มูลค่าของธนาคารถูกหั่นตกเหลือ 2 ใน 3 เมื่อปีที่แล้ว หลังลูกค้าถอนเงินทุน โดยทางธนาคารสูญเงินทุนไปถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.1 ล้านล้านบาทในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา
การประกาศยอมรับของทางธนาคารถึง “สถานการณ์ภายในที่เป็นด้อย” ในรายงานทางการเงิน ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และทำให้นักลงทุนรายใหญ่ อย่างธนาคารแห่งชาติซาอุดี ประกาศจะไม่อัดฉีดเงินทุนให้เครดิตสวิสมากไปกว่านี้
ด้านเครดิตสวิสยืนกรานว่า จุดยืนทางการเงินของทางธนาคารไม่ใช่เรื่องน่ากังวล โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเครดิตสวิสระบุว่า เงินทุนสำรองของธนาคาร “ยังแข็งแกร่งมาก ๆ”
แต่แล้ว หุ้นของเครดิตสวิสก็ร่วงหล่นลงถึง 24% เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ขณะที่ธนาคารแห่งอื่น ๆ รีบลดความเสี่ยงจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ด้านนายกรัฐมนตรีสเปน และฝรั่งเศส ออกมาแถลงข่าวเพื่อลดความหวั่นวิตก
บลูมเบิร์ก รายงานว่า ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ของฝรั่งเศส ได้ระงับการทำข้อตกลงบางเรื่อง หากทราบว่าเครดิตสวิสเป็นคู่ค้า
“วิกฤตธนาคารมาจากอเมริกา ตอนนี้ คนกำลังดูว่าสถานการณ์จะก่อให้เกิดปัญหาทั่วยุโรปหรือไม่” โรเบิร์ก ฮัลเวอร์ หัวหน้าด้านตลาดทุนของธนาคารบาดเดอร์ของเยอรมนี กล่าว
“ในอดีตนั้น หากธนาคารแห่งหนึ่งมีปัญหาแม้เพียงน้อยนิด นักลงทุนรายใหญ่จะบอกว่า เราจะไม่ลงทุนอีกต่อไป และจะไม่อัดฉีดเงินเข้าไปในธนาคารอีก และก็มีกรณีที่นักลงทุนหลายเจ้าบอกว่า เราอยากถอนทุนออก”
หนึ่งในปัญหาที่สะเทือนธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ คือ การถูกกดดันให้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทางธนาคารสะสมไว้ เพื่อระดมเงินทุน แต่มูลค่าของพันธบัตรเหล่านี้ ได้ตกลงในช่วงปีที่ผ่านมา จากการที่ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ เฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางหลายแห่ง รวมถึงธนาคารอังกฤษ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของพันธมิตรก็ลดลง
มูลค่าพันธบัตรที่ลดลง หมายความว่ามีธนาคารอีกหลายแห่งที่สุ่มเสี่ยงเจอปัญหาด้านเงินทุน อย่างไรก็ดี มูลค่าที่ปรับเปลี่ยนไป จะไม่ใช่ปัญหาตราบใดที่ไม่เจอแรงกดดัน อาทิ การถอนทุนของลูกค้า ที่กดดันให้ธนาคารต้องขายพันธบัตรที่สะสมไว้
“ความกังวลคืออาจมีธนาคารอีกหลายแห่ง ที่นั่งทับพันธบัตรที่สูญมูลค่าไปมหาศาล แต่ทางธนาคารยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะเกิดการแห่ถอนเงิน” ซูซานนาห์ สตรีทเทอร์ หัวหน้าฝ่ายการเงินและตลาดหุนของบริษัท ฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ กล่าว
จุดเริ่มต้นวิกฤตการเงิน ?
ปัญหาในภาคการธนาคารเริ่มจากในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ มีมูลค่าตลาดสูงถึง 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 584,000 ล้านบาท
ธนาคารแห่งนี้เชี่ยวชาญด้านการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี แต่ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งปิดธนาคารเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มี.ค.) ซึ่งถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดของธนาคารสหรัฐฯ นับแต่ปี 2008 ต่อมา ธนาคารเอชเอสบีซี ซื้อธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ไปด้วยราคา 1 ปอนด์ หรือ ราว 42 บาท
แต่ความหวาดวิตกยังไม่หยุดเท่านั้น เพราะนักลงทุนกลัวว่าจะมีธนาคารแห่งอื่น ๆ ที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน ทำให้การซื้อขายหุ้นธนาคารผันผวนมากมาตลอดสัปดาห์
ลอเรนซ์ ฟิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทบริษัทด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ แบล็กร็อค ระบุในจดหมายประจำปีต่อนักลงทุนว่า “ยังเร็วไปที่จะทราบความเสียหายว่ากว้างแค่ไหน... มาตรการรับมือของหน่วยงานกำกับด้านการเงินค่อนข้างเร็ว การตัดสินใจที่เด็ดขาดช่วยลดความเสี่ยงที่ปัญหาจะระบาดไปธนาคารอื่น แต่ตลาดทุนยังหวาดวิตกอยู่”
ต่อมาเพียง 2 ว้น ธนาคารซิกเนเจอร์ในนครนิวยอร์กก็ล้มอีกเช่นกัน
ธนาคารใหญ่ระดมเงินช่วยธนาคารเล็ก
ภายหลังการปิดตัวของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ และวิกฤตที่เกิดกับเครดิตสวิส ทำให้ธนาคารรายใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯ คือ เจพี มอร์แกน ซิติกรุ๊ป และอีก 9 ธนาคาร ได้ร่วมกันอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาทให้ธนาคารเฟิร์สรีพับลิก ซึ่งเป็นอีกธนาคารที่สุ่มเสี่ยงจะล้ม
การอัดฉีดเงินมหาศาลช่วยธนาคารเฟิร์สรีพับลิก ทำให้หุ้นของธนาคารพุ่งสูงกว่า 20% ในช่วงหนึ่ง แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ก็เกิดการเทขายหุ้นอยู่ต่อไป สะท้อนว่าความวิตกกังวลยังมีอยู่
ธนาคารเฟิร์สรีพับลิก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก ประสบปัญหาหุ้นร่วงลงเกือบ 70% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนนักลงทุนมองว่า จะเป็นธนาคารต่อไปที่จะล้ม
ธนาคารกลางสหรัฐฯ รายงานว่า ธนาคารหลายแห่งได้เข้ามากู้ยืมเงินฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเงินทุน โดยจนถึงวันที่ 15 มี.ค. มีการกู้เงินไปแล้วกว่า 3.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก BBC Thai
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
ซิลิคอนวัลเลย์ ถึงเครดิตสวิส เกิดอะไรขึ้นกับระบบการเงินโลก
-
8 ธนาคาร เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุทางการเงินจากมิจฉาชีพ โทรได้ 24 ชม.
-
คาดท่องเที่ยวเอเชีย-แปซิฟิก จะฟื้นสู่ระดับก่อนโควิด ภายใน 2024
-
สมาคมธนาคารไทยแนะ ผูกบัญชีธนาคารซื้อของออนไลน์ให้ปลอดภัย
-
ธปท.เตรียมออกเกณฑ์ห้ามแอปฯ ธนาคารล่มเกิน 8.7 ชั่วโมงต่อปี
-
คลังจับมือแบงก์ชาติ จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ เริ่มเฟสแรก 26 ก.ย.-30 พ.ย.65 นี้