ข่าวล่าสุด

:

สุริยุปราคาวันตรุษจีน

วันจันทร์ที่ 26 ม.ค. 2552 ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน ดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าเดือนดับหรือจันทร์ดับ (แต่เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติไทย) จะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่าสุริยุปราคาหรือสุริยคราส เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทอดเงาลงมาถึงผิวโลก แต่ครั้งนี้ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกจนมีขนาดเมื่อมองจากโลกเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดสุริยุปราคาชนิดวงแหวน แต่ประเทศไทยจะสังเกตเห็นได้เป็นชนิดบางส่วนในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น

เส้นทางสุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้เริ่มต้นที่ตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก จากนั้นเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย และไปถึงทางใต้ของเกาะสุมาตรากับด้านตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยกรุงจาการ์ตาอยู่นอกเส้นทางสุริยุปราคาวงแหวน เงามืดเคลื่อนต่อไป ผ่านช่องแคบกะริมาตา เกาะบอร์เนียว บางส่วนทางตอนเหนือของเกาะเซลีเบส สุริยุปราคาวงแหวนสิ้นสุดตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซียกับเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมทางใต้ของทวีปแอฟริกา มาดากัสการ์ บางส่วนของแอนตาร์กติกา ตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย (ยกเว้นแทสเมเนีย) รวมไปถึงบางส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถสังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้ ดวงจันทร์เริ่มบังดวงอาทิตย์ในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่สูงประมาณ 30-40 องศา ทางทิศตะวันตก และดำเนินไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ใกล้ตกลับขอบฟ้า ภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่นๆ เวลาที่เกิดปรากฏการณ์ก็แตกต่างกัน โดยเฉลี่ยเริ่มเวลาประมาณ 16.00 น. หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย และสิ้นสุดในเวลาประมาณ 18.00 น. บังเต็มที่ในเวลาประมาณ 17.00 น. โดยจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งทางซ้ายมือค่อนไปทางด้านบน หลายจังหวัดทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน จะยังคงเห็นดวงอาทิตย์แหว่งอยู่เล็กน้อยในจังหวะที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า (รายละเอียดของแต่ละจังหวัดดูได้จาก http://thaiastro.nectec.or.th หรือวารสารสมาคมดาราศาสตร์ไทย)

สุริยุปราคาบางส่วนเป็นปรากฏการณ์ที่ห้ามดูด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องมีแว่นกรองแสงหรือแผ่นกรองแสงที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับส่องดูดวงอาทิตย์ และอาจใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีแผ่นกรองแสงปิดบังหน้ากล้อง นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ทางอ้อมได้โดยฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงบนฉากรับภาพ แล้วดูดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนฉาก แต่ควรเฝ้าระวังอย่าให้เด็กหรือผู้ที่ไม่รู้มองเข้าไปในกล้อง

วัสดุกรองแสงที่ไม่ปลอดภัยและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กระจกรมควัน แว่นกันแดด กระดาษห่อลูกอม แผ่นดิสเกต ฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูป ฯลฯ อย่านำมาใช้ดูดวงอาทิตย์ แม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะมีความสามารถในการกรองแสงในย่านแสงที่ตามองเห็น แต่รังสีอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านได้และจะเป็นอันตรายต่อดวงตา


สำหรับผู้ที่ไม่มีแผ่นกรองแสงหรือทัศนูปกรณ์อื่น อาจใช้วัสดุที่พบได้ง่ายในบ้านมาช่วยในการสังเกตสุริยุปราคา โดยใช้หลักการของกล้องรูเข็ม สิ่งที่ต้องมีคือกระจกเงาบานเล็ก กระดาษขนาดใหญ่กว่ากระจก มีดคัตเตอร์หรือกรรไกร และเทปกาว จากนั้นนำกระดาษมาเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1 เซนติเมตร แล้วนำกระดาษที่เจาะรูนี้ไปประกบกับบานกระจกด้วยเทปกาว เวลาใช้งานให้นำกระจกเงานี้ไปรับแสงอาทิตย์ให้แสงสะท้อนไปตกบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ในบ้าน ภาพที่เห็นบนฉากจะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า

ขนาดของดวงอาทิตย์บนฉากแปรผันตามระยะห่างระหว่างกระจกกับฉากรับภาพ โดยที่ระยะหนึ่งเมตรจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาดประมาณ 9 มิลลิเมตร ดังนั้นที่ระยะห่าง 10 เมตร จะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาด 9 เซนติเมตร ยิ่งกระจกอยู่ห่างฉากมากเท่าใดก็จะได้ภาพคมชัดมากขึ้นเท่านั้น แต่ความสว่างของภาพก็จะลดลงตามไปด้วย ระยะห่างระหว่างกระจกกับฉากรับภาพที่แนะนำ คือ 3 เมตรขึ้นไป วิธีนี้ทำให้เราสามารถสังเกตสุริยุปราคาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อดวงตา แต่พึงระวังอย่าให้ใครที่เดินผ่านไปมามีโอกาสหันมามองแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกไปจากกระจก ด้วยหลักการเดียวกันนี้ หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ๆ เราอาจสังเกตเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้น หรือผนังก็มีลักษณะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน

หลังจากสุริยุปราคาในวันนี้ ประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตสุริยุปราคาอีกครั้งในช่วงสายของวันพุธที่ 22 ก.ค. 2552 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่เส้นทางคราสพาดผ่านประเทศอินเดียและจีน ประเทศไทยอยู่นอกเส้นทาง จึงเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนอีกเช่นเดียวกัน ปรากฏการณ์ครั้งนั้นเกิดในช่วงเวลาประมาณ 07.00-09.00 น. แต่มีโอกาสที่จะพบอุปสรรคจากเมฆและฝน

สุริยุปราคาในวันตรุษจีนเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ เนื่องจากวันตรุษจีนตรงกับวันเดือนดับครั้งแรกหลังจากเหมายัน (Winter Solstice) ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ (ปัจจุบันตรงกับวันที่ 21-22 ธ.ค.) หากช่วงตรุษจีนดวงจันทร์อยู่ใกล้จุดตัดระหว่างระนาบวงโคจรของมันกับเส้นทางของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าสุริยวิถี ก็มีโอกาสที่จะเกิดสุริยุปราคาขึ้นได้

วันที่ 7 ก.พ. 2551 เกิดสุริยุปราคาวงแหวนในวันตรุษจีนเช่นกัน แต่ไม่เห็นในประเทศไทย สุริยุปราคาในวันตรุษจีน 4 ครั้งถัดไปจะเกิดในปี พ.ศ. 2561, 2569, 2570 และ 2571 ทั้งหมดไม่เห็นในประเทศไทย สุริยุปราคาในวันตรุษจีนที่เห็นได้ในประเทศไทยครั้งที่ผ่านมาเกิดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2523 ครั้งถัดไปจะเกิดในวันที่ 26 ม.ค. 2590



ที่มา http://www.posttoday.com/




บทความที่เกี่ยวข้อง

กลับขึ้นด้านบน

Thaiza update: