ข่าวล่าสุด

:

นักวิทย์เผย ฟอสซิลสัตว์ประหลาดอายุ 530 ล้านปี บรรพบุรุษของปูและแมงมุม

Saccorhytus coronarius fossil                 Photo: CHANGAN UNIVERSITY


ซากฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เหมือนถุงเล็ก ๆ แต่กลับมีปากกว้างใหญ่เกินตัวและไร้ทวารสำหรับขับถ่าย ที่ถูกค้นพบตั้งแต่เมื่อปี 2017 ได้รับการยืนยันแล้วว่า มันคือบรรพบุรุษต้นตระกูลของสัตว์จำพวกปูและแมงมุม

ผลการศึกษานี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ชี้ชัดว่าสัตว์ประหลาดโบราณที่เคยมีชีวิตอยู่ในต้นยุคแคมเบรียนเมื่อราว 530 ล้านปีก่อนนี้ แท้ที่จริงคือต้นตระกูลของสัตว์จำพวกปูและแมงมุม

สัตว์โบราณดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccorhytus coronarius ถูกค้นพบเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในชั้นหินที่เคยเป็นก้นทะเลในยุคดึกดำบรรพ์มาก่อน บริเวณมณฑลชานซีหรือส่านซีทางตอนใต้ของจีน โดยมันมีขนาดลำตัวเล็กจิ๋วเพียง 1.3 มิลลิเมตร แต่มีปากกว้างเกินตัวถึง 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งคาดว่าเป็นช่องเปิดของร่างกายที่มันใช้ทั้งกินอาหารและขับถ่ายไปในตัว

เมื่อหลายปีก่อนทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร ได้เสนอผลวิเคราะห์โครงสร้างร่างกายของ S.coronarius ไว้ว่า ช่องเปิดเล็ก ๆ ที่อยู่โดยรอบปากกว้างของมันนั้น ต่อมาได้วิวัฒนาการกลายมาเป็นเหงือกปลา ซึ่งบ่งชี้ว่ามันคือต้นตระกูลที่เป็นบรรพบุรุษร่วมของสัตว์จำพวก deuterostome ที่รวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิดและมนุษย์ด้วย




Saccorhytus coronarius fossil                          Photo: IMPERIAL COLLEGE LONDON

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยบริสตอลของสหราชอาณาจักรได้คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว หลังจากใช้เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนถ่ายภาพรังสีเอกซ์ 3 มิติ ที่มีความละเอียดสูงกับฟอสซิล S.coronarius อีกครั้ง

พวกเขาพบว่าช่องเปิดเล็ก ๆ รอบปาก ที่เชื่อว่าได้วิวัฒนาการไปเป็นเหงือกปลานั้น แท้ที่จริงเป็นรูโหว่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลังอวัยวะส่วนที่เป็นรยางค์ เช่นขา ก้าม หรือหนวด ได้หักออกไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอลจึงได้จัดให้ S.coronarius อยู่ในกลุ่มของสัตว์จำพวก  ecdysozoan ซึ่งรวมถึงแมลง สัตว์น้ำมีเปลือกแข็ง และหนอนตัวกลม โดยส่วนของรยางค์ที่ยื่นออกมานั้นน่าจะช่วยในการจับเหยื่อที่พื้นทรายก้นมหาสมุทร แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่ามันกินอะไรเป็นอาหาร

การค้นพบล่าสุดนี้ ทำให้นักบรรพชีวินวิทยาต้องค้นหาต้นตระกูลของสัตว์จำพวก deuterostome กันต่อไป เพื่อไขปริศนาและเติมเต็มช่องว่างในสายวิวัฒนาการของคนเรา รวมทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด 

 

 

 ที่มา  BBC Thai

 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

กลับขึ้นด้านบน

Thaiza update: