นักวิทย์จีนเผย แกนโลกชั้นในอาจหยุดหมุน และเริ่มหมุนกลับไปทิศทางตรงข้าม
530
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนเผยผลวิเคราะห์ที่ระบุว่า ตอนนี้แกนโลกชั้นในที่แข็งดูเหมือนว่าจะชะลอการหมุน จนหยุดลงแล้ว และอาจหมุนกลับไปในทิศตรงข้ามอยู่
Science Photo Library
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน ได้ตีพิมพ์ผลวิเคราะห์ลงในวารสาร Nature Geoscience โดยพบว่าเมื่อไม่นานมานี้แก่นโลกชั้นในได้หยุดหมุนลงและเริ่มกลับทิศการหมุนไปในทางตรงกัน
หยิงหยาง และ เซียงดอง ซอง นักแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งในประเทศจีน ระบุว่าตอนนี้แกนโลกชั้นในที่แข็งดูเหมือนว่าจะชะลอการหมุน จนหยุดลงแล้ว และอาจหมุนกลับไปในทิศตรงข้ามอยู่ อย่างไรก็ตามรายงานวิจัยชี้ว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก และโลกอาจเกิดแบบนี้ขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
“เรารู้สึกประหลาดใจมาก” หยางและซองกล่าว “เราได้ข้อสังเกตที่น่าประหลาดใจซึ่งบ่งชี้ว่าแกนชั้นใน (ของโลก) เกือบจะหยุดหมุนแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และอาจกำลังจะพลิกกลับในคาบการหมุนหลายครั้งโดยมีจุดเปลี่ยนเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1970” (เพื่อป้องกันการสับสน คำพูดที่ซองและหยางกล่าวนี้พูดถึงข้อมูลเมื่อปี 1967 ถึง 1996)
พวกเขาอ้างอิงจากการศึกษาข้อมูลแผ่นดินไหวตั้งแต่อดีตเมื่อปี 1967 ถึง 1996 ที่ซอง และ พอล ริดชาร์ดส์ (Paul Ridchards) นักแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบียเคยติดตามอ่านค่าที่เรียกว่า ‘การเคลื่อนที่ผ่านแกนใน’ หลายครั้ง ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ไปจนถึงอลาสก้า ซึ่งหากแกนในไม่เคลื่อนไหว คลื่นกระแทก (แผ่นดินไหว) ก็จะต้องเคลื่อนผ่านไปในเส้นทางเดียวกัน
แต่พวกเขาพบว่ามันกลับมีบางคลื่นที่สะเทือนเร็วขึ้นในช่วงเพียงเสี้ยววินาที หรือกล่าวง่าย ๆ คือเวลาเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหวที่พุ่งผ่านเล็ดลอดนั้นเปลี่ยนไป หมายความแกนโลกชั้นในมีการหมุนอย่างอิสระจากแกนนอก แต่หมุนด้วยความเร็วเท่าไหร่นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งซองและริชาร์ดส์เสนอไว้ว่าแกนโลกชั้นในหมุนเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ 1 องศา
จากนั้นซองจึงได้ทำการวิจัยใหม่กับหยาง (ครั้งล่าสุดนี้) โดยศึกษาคลื่นแผ่นดินไหวในปี 1995 ถึง 2021 และพวกเขาพบว่าการหมุนรอบตัวเองของแกนชั้นในได้หยุดลงเมื่อประมาณปี 2009 ซึ่งสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จุดต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมกับบ่งชี้ว่าการหมุนกำลังกลับด้าน
“รูปแบบที่สอดคล้องกันทั่วโลกนี้บ่งชี้ว่าแกนชั้นในได้หยุดหมุนชั่วคราว” หยางและซองเขียนในรายงาน “เราเห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าแกนในของโลกหมุนเร็วกว่าพื้นผิว แต่เมื่อประมาณปี 2009 มันเกือบจะหยุดหมุน ตอนนี้มันค่อย ๆ หมุนกลับไปในทิศตรงข้าม”
พวกเขาชี้ว่าระยะเวลาการหมุนในแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 60 ถึง 70 ปี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโลกตั้งแต่ชั้นบรรยากาศจนถึงแกนโลกนั้นเคลื่อนไหวเป็นพลวัตรอย่างเดียวกัน รายงานบรรยายว่า “ราวกับโลกกำลังฮัมเพลงเป็นเสียงเดียวกัน”
หยางและซองระบุว่าผลกระทบนั้นสามารถสังเกตได้จากรูปแบบสภาพอากาศที่ยาวนานหลายสิบปี ความยาวของวัน สนามแม่เหล็ก และแม้แต่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล สิ่งเหล่านี้เหมือนจะสอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด การหมุนของแกนในสามารถเชื่อมโยงกับปรากฎการณ์ทางฟิสิกส์ในขอบเขตที่กว้างขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าไม่น่าจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบนเปลือกโลก “มันไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตบนพื้นผิว แต่เราก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจริง ๆ (ใต้โลก)” จอห์น วิเดล (John Vidale) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้กล่าว “เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคิดให้ออก”
ทั้งนี้ แกนโลกชั้นในสุดนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างสนามแม่เหล็ก ส่วนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบนี้เป็น ‘แกนโลกชั้นนอก’ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุการณ์สนามแม่เหล็กหายไปเมื่อ ‘แกนใน’ หยุดหมุน
ที่มา National Geographic Thailand
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
นักวิทย์จีนเผย แกนโลกชั้นในอาจหยุดหมุน และเริ่มหมุนกลับไปทิศทางตรงข้าม
-
นักวิทย์ญี่ปุ่น ทำนายการเกิดสึนามิได้ จากสนามแม่เหล็กของมวลน้ำทะเล
-
ตำแหน่งขั้วเหนือสนามแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่ ส่งผลระบบจีพีเอสสับสนคลาดเคลื่อน
-
นาซาเผย แกนหมุนโลกเคลื่อนไปจากเดิมเฉลี่ยปีราว 10 เซนติเมตร
-
นักวิจัยเยอรมันเผย พายุสุริยะอาจทำให้วาฬเกยตื้น
-
นักวิทย์เผย โครงสร้างแกนชั้นในสุดของโลก