รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดให้จีน แซงหน้าซาอุดีอาระเบีย
399
รัสเซียกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดไปยังประเทศจีน แซงหน้าซาอุดีอาระเบีย
Getty Images
รัสเซียกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดไปยังประเทศจีน แซงหน้าซาอุดีอาระเบีย โดยลดราคาขายน้ำมันดิบให้ในขณะที่ถูกชาติตะวันตก คว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน
เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จีนและรัสเซียได้ประกาศว่าความสัมพันธ์ของสองชาติดำเนินไปอย่าง "ไร้ขีดจำกัด" ซึ่งต่อมาในเดือน พ.ค.จีนได้เพิ่มปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียขึ้นอีก 55% จากหนึ่งปีก่อนหน้า แม้ว่าความต้องการน้ำมันในประเทศจะลดลงจากการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิดและภาวะเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า
บริษัทน้ำมันหลายแห่งของจีนรวมทั้งโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ซิโนเปก (Sinopec) และเฉินหัวออยล์ (Zhenhua Oil) ที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลจีน ต่างเพิ่มปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียมากขึ้นในช่วงสองสามเดือนมานี้ หลังจากกระหน่ำลดราคาขายให้ เนื่องจากบริษัทผู้ซื้อน้ำมันในยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศไม่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
บริษัท Gazprom ของรัสเซีย หยุดส่งก๊าซให้เนเธอร์แลนด์ หลังไม่ยอมจ่ายด้วยรูเบิล
ข้อมูลจากสำนักงานบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนชี้ว่า เมื่อเดือน พ.ค.รัสเซียส่งน้ำมันผ่านท่อส่งน้ำมันไซบีเรียตะวันออก-มหาสมุทรแปซิฟิก และขนส่งทางเรือ ไปยังจีน เป็นปริมาณเกือบ 8.42 ล้านตัน แซงหน้าซาอุดีอาระเบียซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดไปจีน ซึ่งส่งออกไปในเดือน พ.ค.เป็นปริมาณ 7.82 ล้านตัน
นอกจากรัสเซียแล้ว เมื่อเดือน พ.ค. จีนได้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน 260,000 ตัน โดยเป็นการนำเข้ารอบที่สามนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2021 ชี้ให้เห็นว่าจีนยังคงซื้อน้ำมันจากอิหร่านซึ่งเป็นชาติที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอยู่
เมื่อเดือน มี.ค. ทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ประกาศว่าจะห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่สหภาพยุโรปก็เดินหน้าลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย ในความเคลื่อนไหวที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เห็นว่าเพื่อพุ่งเป้าจัดการ "กับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของรัสเซีย" อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในยุโรปเอง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศูนย์วิจัยว่าด้วยพลังงานและอากาศสะอาด เผยแพร่รายงานชี้ว่ารัสเซียยังคงมีรายได้จากการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบ 100 วันของการรุกรานยูเครน แม้ว่ายอดการส่งออกในเดือน พ.ค.จะลดลงก็ตาม โดยสหภาพยุโรป (อียู) เองเป็นผู้นำเข้าน้ำมันตามมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง 61% หรือประมาณ 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยรวม ๆ แล้วการส่งออกน้ำมันและก๊าซและรายได้จากธุรกิจพลังงานของรัสเซียลดต่ำลงจากช่วงที่เคยส่งออกสูงสุดเป็นมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เมื่อเดือน ม.ค. แต่ในเวลาเดียวกัน รายได้ของรัสเซียก็ยังมีมากกว่าค่าใข้จ่ายในการทำสงครามกับยูเครนในช่วง 100 วันแรก ซึ่งศูนย์วิจัยว่าด้วยพลังงานและอากาศสะอาดประเมินว่า รัสเซียมีค่าใช้จ่ายในการทำสงครามตกวันละประมาณ 876 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวในงานเสวนาที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ว่าการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกนั้น "บ้าคลั่ง ไม่รุนแรง และไม่มีทางสำเร็จ" โดยผลร้ายจะเกิดกับผู้ที่ออกมาตรการเหล่านั้นเอง และอียู จะสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อใน 27 ชาติสมาชิกอียู เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในเวลาเดียวกันผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียเองออกมาเตือนว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้รัสเซียจะสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี
สำหรับจีนนั้น เมื่อเดือน พ.ค. ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน 260,000 ตัน โดยเป็นการนำเข้ารอบที่สามนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2021 ชี้ให้เห็นว่าจีนยังคงซื้อน้ำมันจากอิหร่านซึ่งเป็นชาติที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอยู่
ที่มา BBC Thai
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
ประณามรัสเซีย ยิงถล่มห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนอยู่ด้านในกว่า 1 พันคนในยูเครน
-
เยอรมนีเตือน สัญญาณขาดแคลนแก๊สในประเทศ หลังรัสเซียลดปริมาณการส่ง
-
รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดให้จีน แซงหน้าซาอุดีอาระเบีย
-
บริษัท Gazprom ของรัสเซีย หยุดส่งก๊าซให้เนเธอร์แลนด์ หลังไม่ยอมจ่ายด้วยรูเบิล
-
รัสเซียเลิกจำกัด เพดานอายุทหาร หวังดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมทัพมากขึ้น
-
สงครามรัสเซียยูเครน ทำให้วิกฤตในเยเมนและอัฟกานิสถานแย่ลง