ลดน้ำหนัก แต่งหน้า เคล็ดลับแต่งหน้า เทรนด์แฟชั่น

บทบาทสตรีไทยและความเท่าเทียมในสังคม

ความเท่าเทียม

    เนื่องในวันสตรีไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสตรีมีบทบาทมาก มีความสามารถทัดเทียมผู้ชาย และเป็นที่ยอมรับจากสังคมมากขึ้น ผู้หญิงไทยในปัจจุบันมีความรู้ ความสามารถครบถ้วนทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการบริหาร การจัดการ เช่นเดียวกับผู้ชาย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่แม่ศรีเรือนที่ดีเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น แต่ต้องก้าวทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

    สสส. ได้สนับสนุนกลไกป้องกันความรุนแรงร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรี เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเปราะบางต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำจากสังคม จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม ที่ถูกฝังรากลึกมานาน ทำให้บางคนสูญเสียโอกาสในการทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งที่บางคนมีความรู้ความสามารถ ทำให้ถูกจำกัดห้ามทำงานต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามีเท่านั้น สสส. จึงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง เพื่อทำให้ผู้หญิงไทยมีสุขภาวะที่ดีในสังคม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีสิทธิเสมอภาคเท่ากับผู้ชาย

    หากทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้ เห็นคุณค่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมโลกคงดีขึ้นกว่านี้ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในอนาคตเชื่อว่าสังคมจะเปลี่ยนไป ต้องบอกว่าตอนนี้เราฝืนสังคมแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น แนวโน้มความเท่าเทียมจะสูงขึ้น หมายความว่า ผู้ชายจะมาบอกว่าแต่งงานไปแล้วงานบ้านผู้หญิงจะต้องทำ ในสังคมไทยความคิดแบบเดิม ๆ จะถูกต่อสู้ และจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น การทำงานบ้าน หรือการเลี้ยงลูกไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทัศนคติคนเราสามารถเปลี่ยนได้ การเรียนรู้ไปท่ามกลางการปฏิบัติ การแลกเปลี่ยน การพูดคุย ถ้ามีประสบการณ์ มีการเรียนรู้ร่วมกันจะเปลี่ยนความคิดได้


    บทบาทและความเท่าเทียมในครอบครัว

    1.) ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม และความคิดแบบชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย ทำให้การมีลูกกลายเป็นเรื่องยาก ผู้หญิงไม่อยากมีลูก เพราะเชื่อว่าหากแต่งงานไปผู้ชายจะดูแลลูกไม่ได้

    2.)ผู้หญิงต้องแบกรับภาระมากมายทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด ดังนั้นผู้ชายควรจะช่วยดูแลงานบ้านและช่วยดูแลลูก เพราะช่วงที่ผู้หญิงท้องเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก ช่วง 9 เดือนที่อุ้มท้องต้องระวังรักษาสุขภาพ หากผู้ชายช่วยเรื่องงานบ้านก็จะแบ่งเบาภาระผู้หญิงได้มาก

    3.)สิทธิด้านแรงงานหญิงถูกมองเป็นเหมือนแรงงานสำรอง ผู้หญิงถูกมองว่าการทำงานบ้าน-เลี้ยงลูก เป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ผู้หญิงถูกมองว่ามีหน้าที่ในการตั้งท้อง ดูแลลูก แต่ผู้ชายก็ดูแลเด็กได้ละเอียดอ่อนไม่ต่างจากผู้หญิง เพียงเพราะความคิดที่ว่า สังคมชายเป็นใหญ่เป็นกำแพงกั้น ทำให้ผู้ชายหลายคนไม่กล้าเข้ามาในกำแพงนี้

    4.)การเปลี่ยนแปลงต้องแก้ไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งระบบการศึกษา สื่อ และนโยบายรัฐต้องซัปพอร์ต ระบบการศึกษาไทยและสื่อยังเป็นปัญหาใหญ่ ยังไม่ตระหนักเรื่องบทบาทหญิงชาย หรือความเท่าเทียมระหว่างเพศ ยังมีการสอนแบบผิด เช่น ผู้หญิงเป็นแม่บ้านทำงานบ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ควรเป็นแค่เพศหญิง ควรปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติได้แล้ว เพราะเป็นการกดทับและตอกย้ำเรื่องความเท่าเทียม

    5.)หากทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้ เห็นคุณค่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียม ในอนาคตสังคมจะเปลี่ยนไป แนวโน้มความเท่าเทียมจะสูงขึ้น เพราะทัศนคติคนเราสามารถเปลี่ยนได้ และสามารถเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนความคิดได้

    ระบบชายเป็นใหญ่มีความสำคัญมากในการบ่มเพาะสังคม เรายอมรับว่าผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันด้านสรีระ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องของสิทธิ หน้าที่ และโอกาส จะต้องแตกต่างกันด้วย ทุกเพศต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีคำว่า “ชายเป็นใหญ่” ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องให้ความสำคัญ ความเท่าเทียมและเสมอภาคกับมนุษย์ด้วยกัน
สสส.


บทความที่เกี่ยวข้อง

กลับขึ้นด้านบน

Thaiza update: