ลดน้ำหนัก แต่งหน้า เคล็ดลับแต่งหน้า เทรนด์แฟชั่น

สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย สร้างสูงวัยสุขภาพดี

ผู้สูงอายุ

    ผู้สูงอายุในชุมชนเมืองมักประสบปัญหา เรื่องมีเวลาแต่ไม่มีรายได้ ขาดกิจกรรมทำระหว่างวัน อย่างไรก็ตามเพื่อลดผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การปลูกพืชผักสวนครัว ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้

    ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน เดินทางไปยังชุมชนวัดเกาะ แขวงบางเชือกหนัง และแขวงบางระมาด ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมติดตามโครงการผลักดันนโยบายขยายพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ ด้วยอาหารและการมีกิจกรรมทางกาย สู่ภารกิจหน่วยงานยุทธศาสตร์ในพื้นที่

    ในยุคที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารในเขตชุมชนเมือง เป็นสิ่งที่แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัย และเพียงพอกับทุกคน ซึ่งจากการเยี่ยมชมพื้นที่ ก็ได้เห็นถึงความร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาหารปลอดภัย ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ก็มีศักยภาพและถือเป็นพลังที่จะช่วยพัฒนาชุมชนแห่งนี้ ให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนกรุงเทพได้ อย่างไรก็ตามเราจะต้องทำให้คนในชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้โครงการพัฒนาต่าง ๆ มีความเจริญอย่างยั่งยืน

    การสร้างความมั่นคงทางอาหารในเขตเมือง โดยเฉพาะในยุคที่มีโควิด-19 เช่นนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะพืชผักที่ปลูกกินเองโดยไม่ใช้สารเคมี นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดค่าครองชีพ ให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพได้เป็นอย่างดี ซึ่งพื้นที่เขตตลิ่งชัน ถือเป็นชุมชนต้นแบบ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งพาตัวเองและชุมชนให้อยู่รอดในช่วงวิกฤติ

    หลายชุมชนมีใจที่จะปลูกพืชผักไว้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย แต่ยังขาดความรู้ทางการเกษตรอยู่ ซึ่งอาจจะแก้ไขได้โดยการไปศึกษาดูงาน ดูวิธีการจัดการจากศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องสร้างตลาดสีเขียว ให้เกิดขึ้นในทุกชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ใส่ใจดูแลสุขภาพ


    การขับเคลื่อนงานของเครือข่ายผู้สูงอายุตลาดน้ำคลองลัดมะยม ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมกันส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารเคมี โดยมีการตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตผักปลอดภัย เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก แก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุกินผักเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมทางกาย และเพิ่มช่องทางสร้างรายได้

    ที่นี่ถือเป็นแหล่งเครื่องต้มยำของกรุงเทพ เพราะไม่ว่าจะเป็นพริก ขิง ข่า ตะไคร้ มะนาว มะกรูด จะมีกลิ่นดีมาก ซึ่งเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของดินดี น้ำและแสงแดดดี สามารถสร้างอาหารเลี้ยงคนกรุงเทพได้เหลือเฟือเลย ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ เราพยายามส่งเสริมการนำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะแต่ก่อนพื้นที่นี้ก็ปลูกผักกินเองอยู่แล้ว ความรู้ดั้งเดิมเหล่านี้ สามารถนำมาต่อยอดสร้างงานให้ผู้สูงอายุมีรายได้ พึ่งพาตัวเองได้

    แนวทางการสร้างแหล่งอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน ประกอบด้วย

    1. ชักชวนผู้สูงอายุในชุมชน มาช่วยกันปรับปรุงพื้นที่ เพื่อปลูกผักสวนครัว โดยจะช่วยกันมาดูแลแปลงปลูกผักส่วนกลางของชุมชนทุกวัน

    2. ผักที่ปลูกจะเป็นพืชผักสวนครัวทั่ว ๆ ไป เช่น พริก มะกรูด มะนาว มะเขือ ถั่วฝักยาว ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา ผักบุ้ง ผักคะน้า และผักสลัด เป็นต้น

    3. สมาชิกกลุ่มสามารถเก็บไปทำอาหารได้ ขณะที่ผักบางชนิด ก็จะขายให้กับคนในชุมชนราคาถูก เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และส่งเสริมการบริโภคผัก

    4. ผักที่ปลูกจะไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้า เน้นบำรุงดินด้วยวิธีธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น ทำให้มั่นใจได้ว่าผักสด สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ

    5. สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ พืชผักสวนครัวที่ปลูก นอกจากกินเองแล้ว ยังสามารถนำไปขายในชุมชนได้อีกด้วย

    การปลูกพืชผักเพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงวัย ที่จะเป็นพลังร่วมสร้างสังคมไทยไปสู่สังคมสุขภาวะดี นอกจากนี้ สสส. ขอรณรงค์ชวนปรับพฤติกรรมการกินง่าย ๆ ด้วยการยึดหลักทุกมื้อให้ผักนำ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลโรค
สสส.


บทความที่เกี่ยวข้อง

กลับขึ้นด้านบน

Thaiza update: