ดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทย ในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
468
ดูแลสุขภาพ ให้ห่างไกลโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วิกฤต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ
ดูแลสุขภาพ ให้ห่างไกลโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วิกฤต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และ โรคผิวหนัง ชู สมุนไพร และ อาหารไทย ที่เหมาะจะรับประทานเพื่อรักษาโรค และ ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ในสถานการณ์ดังกล่าว
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย หลายจังหวัดมีค่าเกินค่ามาตรฐาน และ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และ โรคผิวหนัง เป็นต้น ทั้งนี้ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบการหายใจ เข้าไปเจือในเสมหัง (ของเหลวที่เป็นเมือก) ที่อยู่นับตั้งแต่โพรงจมูกถึงคอหอย (ศอเสมหะ) เลยลงไปถึงทรวงอก (อุระเสมหะ) กระทบรูปธาตุดินที่ปับผาสัง (ระบบทางเดินหายใจทั้งหมด) ทำให้เกิดอาการหายใจตื้น หายใจขัด แสบคอ แสบอก มีเสลดเหนียวในคอ ไอ จาม น้ำตาไหล ยิ่งผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น อาจส่งผลกระทบไปถึงระบบใกล้เคียง คือ หทยัง (ระบบการไหลเวียนของเลือด) ของเสียจากฝุ่นจะเจือในมวลของเลือดแล้วไหลผ่านไปทั่วกาย เกิดอาการเหนื่อยง่าย อาจมีเม็ด ผดผื่นแดง ขึ้นตามเนื้อตัว หัวใจอาจทำงานมากขึ้นด้วย อาจส่งผลกระทบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง เมื่อฝุ่นที่เป็นของเสียนี้อยู่ในกล้ามเนื้อ และ โลหิตนานๆจะส่งผลระยะยาวต่อธาตุดิน เพราะของเสีย (กรีสัง) จะฝังตัวอยู่ในธาตุดินส่งผลให้เกิดเป็นฝีร้าย (มะเร็ง) ได้ในอนาคต
ช่วงสถานการณ์ PM 2.5 การดูแลปอด และหัวใจ เป็นสิ่งสำคัญ ตามศาสตร์แพทย์แผนไทยมีข้อแนะนำ คือ ควรงดน้ำแข็ง และ อาหารที่มีฤทธิ์เย็น ถ้ามีอาการเหนื่อยง่าย หรือ อ่อนเพลียควรบริโภคยาหอมเพื่อบำรุงหัวใจ เช่น ยาหอมอินทจักร นวโกฐ เทพจิตร ทิพโอสถ ควรรับประทานอาหาร/สมุนไพร เพื่อต้านอนุมูลอิสระ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ ที่อุดมด้วยวิตามินเอและเบต้าแคโรทีน เช่น ผักบุ้ง ตำลึง บล็อกโครี่ หรือผักที่มีสีแดง เหลือง ส้ม เช่น ฟักทอง มะเขือเทศ แครอท ข้าวโพด มะละกอ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่มีสีแดง ม่วงแดง น้ำเงิน เช่น หม่อน หว้า มะเกี๋ยง ตะขบ น้ำสมุนไพร เช่น อัญชัน ฝาง ว่านกาบหอย ตรีผลา น้ำกระชาย กระเจี๊ยบ มะขามป้อม ส้ม มะนาว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวก่ำ ข้าวสีนิล ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวลืมผัว และ สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระ เช่น กะเพรา ขมิ้นชัน กระชาย กระเทียม ขิง
ในส่วนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากฝุ่น คือรูปธาตุมวลละเอียดที่เจืออยู่ในอากาศในทางการแพทย์แผนไทย ฝุ่นก็เปรียบได้กับ กรีสัง (ของเสีย) ของเสียในรูปธาตุดิน คือ อุจจาระ, ธาตุน้ำ คือ ปัสสาวะ, ธาตุลม คือ ลมหายใจเข้าออก และธาตุไฟ คือ ระบบระบายความร้อน วิธีการดูแลตนเองเราจะยึดหลักการ คือ รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย สำหรับอาหารที่อยากแนะนำ เช่น สะเดาน้ำปลาหวาน แกงเลียง แกงขี้เหล็ก น้ำพริก (ผักจิ้ม) เครื่องดื่ม เช่น น้ำมะขาม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำตะไคร้ น้ำมะขามป้อม น้ำตรีผลา น้ำรางจืด เป็นต้น
กรณีผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ ตามศาสตร์แพทย์แผนไทยจะสังเกตจากอาการระคายคอ มีเสมหะ ควรทานยาแก้ไอขับเสมหะ เช่น ตรีผลา ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาประสะมะแว้ง ประสะกานพลู อัมฤควาที หรือ ถ้ามีอาการหายใจตื้น หายใจขัด แสบคอ แสบอก ไอ จาม คัน/คัดจมูก มีน้ำมูกมาก หวัดแพ้อากาศ ควรรับประทานยาปราบชมพูทวีป สรรพคุณ บรรเทาอาการหวัดระยะแรก และอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อากาศ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คุณสมบัติแต่ละตัวยาของตำรับยาปราบชมพูทวีปทั้ง 23 ชนิด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรรสร้อน ช่วยลดการกำเริบของธาตุน้ำ ช่วยลดการอักเสบ รวมถึงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และอีกวิธีที่นิยม คือ การสุมยา โดยสามารถสุมได้ครั้งละ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และ การอบไอน้ำสมุนไพร สัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง เช่นกัน
อีกหนึ่งอาการ ที่มักจะมีสาเหตุที่มาจากการแพ้ฝุ่น คือ อาการแพ้ทางผิวหนัง ในทางการแพทย์แผนไทย สามารถแนะนำการดูแลสุขภาพผิวพรรณ ด้วยศาสตร์แผนไทย เช่น อาการผิวแห้ง ข้อแนะนำคือ ควรดูแลผิวพรรณให้ชุ่มชื่น โดยใช้โลชั่นที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้ บัวบก ขมิ้นชัน อาการผด ผื่น คัน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้านการอักเสบของผิวหนัง ช่วยฆ่าเชื้อโรค สรรพคุณ ช่วยประโลมผิว และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง เช่น ว่านหางจระเข้ บัวบก โลชั่นพญายอ และ อาการผิวหนังอักเสบ ลมพิษ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลู และ ขี้ผึ้งพญายอ
ในช่วงสถานการณ์ PM 2.5 อยากแนะนำ ให้ออกกำลังกายในห้องปิดมิดชิดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น ฤาษีดัดตน มณีเวช โยคะ ชี่กง ฯลฯ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน และ ที่สำคัญไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะห่างไกลโรคในช่วงสถานการณ์ PM 2.5
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
ดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทย ในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
ดูแลสุขภาพ ให้ห่างไกลโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วิกฤต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่...
-
4 โรคยอดฺฮิตหน้าหนาว สำหรับผู้สูงอายุ ดูแลด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
เผยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ใช้บำบัด และป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ เพื่อลดความเจ็บป่วย และอาการ...
-
สรรพคุณและคุณประโยชน์ของ กัญชา สมุนไพรเป็นยารักษาโรค
สารที่มีความสำคัญและค้นพบประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย แต่ก็กระตุ้นระบบประสาทเพราะฉะนั้นหากจะใช้กัญชาก็ค...
-
แพทย์แผนไทยตั้งเป้าขยายคลินิกกัญชาทั่วประเทศ
เตรียมขยายการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ตั้งเป้ากว่า 650 แห่งทั่วประเทศ...
-
แพทย์แผนไทยแนะนำสมุนไพรต้านไวรัส
ขณะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกาย ...
-
กาสะลองหรือดอกปีบ มีสรรพคุณบรรเทาอาการโรคหืด แพทย์แผนไทยแนะวิธีใช้อย่างง่าย
จากกระแสละครดังกลิ่นกาสะลอง ขอเสนอความรู้เรื่องสมุนไพรเกี่ยวกับดอกกาสะลอง...