เคล็ดลับใช้ชีวิตคู่ ในยุค Work From Home
2,864
การทำงานอยู่ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าคู่รักหลายคู่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้
การทำงานอยู่ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าคู่รักหลายคู่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ ทะเลาะเบาะแว้ง หงุดหงิดใส่กันมากขึ้น แทบจะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง คำพูดที่ใช้คุยกันก็ไม่น่ารักเหมือนเดิม เห็นหน้ากันเกือบ 24 ชั่วโมง บางครั้งก็เริ่มเบื่อ ขัดหูขัดตากันมากขึ้น ลูกก็ต้องเลี้ยง ครอบครัวก็ต้องดูแล งานก็ต้องทำ หลาย ๆ ครั้งรู้สึกเหนื่อยใจเหลือเกิน
สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้างในครั้งนี้ ส่งผลให้พนักงานบริษัทหลายคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หน่วยงาน และบริษัทต่าง ๆ ตอบรับนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ หรือที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า Work From Home บางคนก็เรียกด้วยอักษรย่อว่า WFH ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อนั่นเอง แต่เมื่อการทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนช่วงเวลาปกติ คู่รักหลาย ๆ คน อาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน เริ่มมีปัญหาทะเลาะกันบ่อยขึ้น รู้สึกว่าความรักไม่เหมือนเดิม ความสัมพันธ์ในครอบครัวน้อยลง จะมีวิธีปรับ mind set อย่างไร ให้เข้าใจกันมากกว่าเดิม เพื่อให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น
หัวใจสำคัญของการสร้างสัมพันธ์ของคู่รักและครอบครัว คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่จะให้สัมพันธภาพเดินหน้าต่อไปได้ การมีปัญหาทะเลาะกันระหว่างคู่รัก ปัญหาความไม่เข้าใจกันเป็นเรื่องปกติในการใช้ชีวิตคู่ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ปกติก็ต่อเมื่อไม่หันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ หากปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขหรือสร้างความเข้าใจซึ่งกันละกัน อาจนำไปสู่การอย่าร้าง เลิกราในที่สุด การเลี้ยงดูในอดีตของแต่ละคน ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตคู่ได้เช่นกัน
จากงานวิจัยในประเทศของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับ สสส. พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2563 การเก็บสถิติข่าว แบ่งตามประเภทข่าวความรุนแรง ปรากฏว่าข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว พบ 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์อันเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างคู่รักหรือคู่ชีวิตในช่วง Work From Home คือ
1. บุคลิกภาพ Extrovert VS Introvert จะมีปฏิกิริยาต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เวลาต้องอยู่ด้วยกันระหว่าง Lock down นาน ก็จะแสดงความต้องการออกมา ไม่พอใจก็เกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย หรือระเบิดอารมณ์ได้ในกรณีของคนที่ไม่ค่อยแสดงออก ความน้อยอกน้อยใจก็จะสะสมขึ้น บางครั้งอาจมีการตัดความหมายผิดไปจากเจตนาของคำพูดของคนรัก ทำให้ไม่เข้าใจกัน
2. การ lock down อาจทำให้อาการทางจิตแย่ลง ความวิตกจริต ความกังวลและภาวะซึมเศร้า จะมีผลส่งต่อความเครียดให้คนในบ้าน
3. Boundary หรือขอบเขตความเป็นส่วนตัวหายไป จากการที่เคยต้องออกไปทำงานและมีแค่ช่วงเย็น ๆ ที่จะได้ใช้เวลากับคนรักและครอบครัว กลายเป็นต้องอยู่ด้วยกันมากว่า 15 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น
เทคนิคการสื่อสารความรู้สึกต่อคนที่เรารักและห่วงใย เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
1. ถ้าสถานการณ์ยังตึงเครียด บอกกล่าวว่า "รักนะ แต่ขอเวลาเรียบเรียงความรู้สึกแล้วเดี๋ยวเรากลับมาคุยกันใหม่” รอให้ต่างฝ่ายต่างอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วค่อยมาปรับความเข้าใจกัน
2. เมื่อพร้อมจะคุย ภาษากายต้องเปิดกว้าง หรือ มีสัมผัสเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราต้องการเคลียร์จริง ๆ เช่น พร้อมที่จะสบตากัน แตะไหล่เบา ๆ นั่งข้าง ๆ กัน
3. เริ่มต้นจากการบอกความรู้สึกของเราก่อน เช่น "เมื่อกี๊เราโกรธเพราะพอเราพูด เธอไม่ฟังคำอธิบายก่อน ด่วนสรุปว่าเป็นความผิดของเราแล้วใส่อารมณ์กับเราเลย เราโกรธ เราเสียใจนะ”
4. พยายามเป็นผู้รับฟังที่ดี สะท้อนความรู้สึกของคนรัก เช่น ฉันเข้าใจนะว่าที่เธอเป็นแบบนี้เพราะกำลังเหนื่อยอยู่ใช่ไหม
5. ถ้าฝ่ายเรามี Message ที่สำคัญอยากให้คู่รักเปลี่ยนแปลง ให้ใช้ภาษาพูดที่จะทำให้เขาเข้าใจและได้ยินในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ใช้การสั่งหรือเรียกร้อง
กิจกรรมเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว หรือเทคนิคการขอร้องอย่างสร้างสรรค์ 2 Stars and a wish
หากเราต้องการเสริมสร้างการสื่อสารให้แข็งแรง กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น แสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการอย่างสร้างสรรค์ ควรมีการประชุมครอบครัวอาทิตย์ละครั้งโดยใช้เทคนิคของการชมและการขอเปลี่ยนแปลง แบบนี้
2 Stars คือ คำชมต่อพฤติกรรมที่เราสังเกตระหว่างอาทิตย์ที่เราอยากชื่นชม สูตรของการชม ต้องมีความของรู้สึกของเรา + พฤติกรรมด้านบวก + บอกถึงความภาคภูมิใจในตัวเขา ตัวอย่าง "อาทิตย์นี้ฉันรู้สึกดีใจที่เห็นคุณพยายามช่วยงานบ้าน และอยากขอบคุณที่ช่วยแบ่งเบาภาระ วันก่อนขอบคุณที่ช่วยแวะซื้อกับข้าวให้นะ ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยออกไปอีก ช่วยเบาภาระเราได้เยอะเลย
A wish คือ สิ่งที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวคู่รัก ตัวอย่างเช่น "เมื่อวานฉันยุ่งมากเลย ต้องทำทุกอย่าง แอบหวังว่าคุณจะพาลูกออกไปปั่นจักรยานเล่นสักครึ่งชั่วโมง ฉันจะได้มีเวลาพักหายใจบ้าง
สสส. สนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ในช่วงที่ต้องทำงานอยู่บ้านแบบนี้ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยการออกกำลังกาย ทำงานบ้าน เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขอนามัย เพื่อสุขภาวะที่ดี ห่างไกลจากโควิด-19
สสส.
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
เคล็ดลับใช้ชีวิตคู่ ในยุค Work From Home
การทำงานอยู่ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าคู่รักหลายคู่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้...
-
แนะคู่รัก สามี-ภรรยา งดมีเพศสัมพันธ์ หากพบเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูง
แนะคู่รักหรือสามีภรรยาควรงดหรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ...
-
ทำอย่างไรดี เมื่อเราทะเลาะกันทุกวัน
ปัญหาของคู่รักหรือคู่สามีภรรยา คงหนีไม่พ้นการทะเลาะ มีปากมีเสียงกัน...
-
5 วิธีมัดใจคู่รักโดยไม่ต้องพึ่งเตียง
เซ็กซ์คงไม่ใช่อย่างเดียวที่จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ดีในระยะทางอันยาวไกลของความรักหลายสิบปี...
-
'Pre wedding บนน่านฟ้ากับเฮลิคอปเตอร์ที่แรกที่เดียวในเมืองไทย'
เปิดประสบการณ์ที่สุดหรูหราบนท้องฟ้า เพื่อรองรับคู่รักจากทั่วโลก ในปี 2018...
-
มอบความสุข ต่อเวลารักให้ยืนยาว
ถึงเวลาเติมความหวานให้กันด้วยการให้นาฬิกา...