ลดน้ำหนัก แต่งหน้า เคล็ดลับแต่งหน้า เทรนด์แฟชั่น

รู้รอบ เรื่องถุงยาง

ถุงยาง

    ถุงยาง (Condom) อุปกรณ์คุมกำเนิดที่นิยมใช้มากที่สุด และมีประสิทธิภาพมากหากนำมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขนาดไปจนถึงการเก็บรักษา แล้วยังช่วยให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease: STD) ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

    ถุงยางเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดสำหรับผู้ชายและผู้หญิง ถุงยางอนามัยชาย จะใช้สวมเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวก่อนการร่วมเพศ ส่วนถุงยางอนามัยผู้หญิง ในประเทศไทยไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ เพราะขั้นตอนการใส่ที่ซับซ้อน โดยจะใช้สำหรับสอดเข้าไปภายในช่องคลอดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ โดยทั้งคู่ไม่ควรใช้ถุงยางอนามัยพร้อมกัน เพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยเสียดสีกันจนหลุดหรือแตกได้

    ถุงยางผลิตจากอะไร ?

    ถุงยางอนามัยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะผลิตจากยางธรรมชาติ (Latex) โพลียูรีเทน (Polyurethane) หรือลำไส้ของลูกแกะ (Lambskin) โดยถุงยางอนามัยที่ผลิตจากยางธรรมชาติและโพลียูรีเทน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ดีที่สุด ในบางรายที่มีอาการแพ้ยางธรรมชาติก็สามารถมาเลือกใช้ชนิดโพลียูริเทน หรือชนิดที่ผลิตจากลำไส้ของสัตว์แทนได้ ซึ่งจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้

    ถุงยางป้องกันโรคได้ดีจริงไหม ?

    การสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่สามารถรับประกันว่าจะปลอดภัยจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ควรมีการสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม คลามัยเดีย งูสวัด และเอชไอวี

    ถุงยางป้องกันการท้องได้ดีจริงไหม ?

    จุดประสงค์ของถุงยางอนามัยคือการคุมกำเนิด แต่ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่าคู่รักที่มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีก็มีโอกาสพลาดตั้งครรภ์ได้สูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้ไม่ถูกวิธีจะมีโอกาสพลาดตั้งครรภ์มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสบายใจและมั่นใจในการใช้ถุงยาง ให้สามารถป้องกันโรคและลดโอกาสการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมขึ้น ผู้ใช้ควรศึกษาวิธีการใช้ที่ถูกต้องเสียก่อน

    วิธีใช้ถุงยางอย่างถูกต้อง

    - ใช้ถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับขนาดของอวัยวะเพศของตัวเอง

    - เมื่อแกะใช้ถุงยางอนามัย ต้องระมัดระวังและแน่ใจเสมอว่าไม่ได้ไม่ทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาด ไม่ใช้เล็บหรือฟันในการแกะห่อผลิตภัณฑ์
    - ตรวจดูสภาพถุงยางอนามัยทุกครั้ง หากพบว่าถุงยางอนามัยอยู่ในสภาพไม่ปกติให้ทิ้งไป ห้ามใช้เด็ดขาด ตรวจเช็คให้แน่ใจว่าไม่รั่ว ไม่ขาด ไม่หมดอายุ
    - ต้องสวมใส่ขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวแล้ว และสวมก่อนที่จะมีการสัมผัสกันระหว่างอวัยวะเพศของทั้ง 2 ฝ่าย หรือการสอดใส่
    - สวมถุงยางอนามัยไว้ตลอดขณะที่มีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะน้ำอสุจิสามารถปนออกมากับน้ำหล่อลื่นได้ตลอดเวลา แม้จะยังไม่มีการหลั่งก็ตาม
    - ใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ใช้ซ้ำ ใช้ถุงยางอันใหม่ทุกครั้งที่อวัยวะเพศมีการแข็งตัว
    - ใส่เพียงชั้นเดียวเท่านั้น หากใส่ 2 ชั้นอาจทำให้ถุงยางอนามัยเสียดสีจนแตกหรือฉีกขาดได้ง่าย
    - สำหรับผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ให้ดึงหนังหุ้มปลายกลับเข้าที่ก่อนที่จะสวมถุงยางอนามัย
    - หากเป็นถุงยางชนิดไม่มีที่สำหรับการเก็บน้ำอสุจิที่ส่วนปลาย ให้หยิบดึงไล่อากาศออกที่ส่วนปลายของถุงยางอนามัยพอให้มีช่องว่างประมาณครึ่งนิ้ว เพื่อให้มีที่เก็บน้ำอสุจิเมื่อเกิดการหลั่ง
    - ในขณะที่มือหนึ่งกำลังจับที่ส่วนปลาย (สำหรับถุงยางอนามัยชนิดที่ไม่มีที่เก็บน้ำอสุจิที่ส่วนปลาย) ให้ใช้อีกมือหนึ่งค่อย ๆ รูดม้วนถุงยางอนามัยลงมาจนถึงฐานอวัยวะเพศชาย และให้แน่ใจว่าสวมคลุมจนสุดพอดีและไล่ฟองอากาศออกให้หมด
    - หากรู้สึกว่าถุงยางอนามัยแตกหรือขาดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ให้หยุดในทันที และเปลี่ยนไปใช้อันใหม่
    - หลังการหลั่งน้ำอสุจิและก่อนที่อวัยวะเพศชายจะหดตัวลง ให้ระมัดระวังขณะที่จะนำออก ต้องแน่ใจว่าถุงยางอนามัยยังคงสวมอยู่กับที่ไม่หลุดออก โดยการเอามือจับที่ส่วนฐานของถุงยางอนามัยเอาไว้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถุงยางอนามัยหลุด
    - ขณะที่ถอดถุงยางอนามัย ต้องแน่ใจว่าน้ำอสุจิไม่หกออกมา และเก็บทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย

    นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงการเก็บถุงยางอนามัย เพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อสภาพของถุงยางอนามัย ควรเก็บเอาไว้ในที่แห้งและเย็น หากถุงยางอนามัยสัมผัสกับอากาศ ความร้อน และแสง จะทำให้ถุงยางอนามัยมีโอกาสเสียหรือเสื่อมคุณภาพลงได้ โดยเฉพาะการเก็บถุงยางอนามัยเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ เพราะพกติดตัวไว้ตลอดเวลา มีโอกาสที่จะถูกทั้งความร้อนและแรงกดทับทำให้เสื่อมสภาพได้ง่าย
พบแพทย์



บทความที่เกี่ยวข้อง

กลับขึ้นด้านบน

Thaiza update: